Data visualization เป็นการนำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข จำนวน วันที่ เวลา ฯลฯ
มานำเสนอในรูปแบบของภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ใช้งานข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นระบบผู้บริหารขององค์กร ลูกค้า หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมักจะใช้กราฟรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการนำเสนอ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ยกตัวอย่างกราฟประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- แผนภูมิวงกลม (pie chart)
เหมาะสำหรับการสื่อ “สัดส่วน” ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของข้อมูลในประเด็นเดียวกัน บันทึกในช่วงเวลาเดียวกัน ทุกกลุ่มบวกรวมกันได้ 100% โดยต้องมั่นใจว่าสัดส่วนต่างๆ ที่จะนำมาพล็อตใส่แผนภูมินั้นเป็นส่วนเสี้ยวของเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่คนละเรื่องกัน และบวกกันได้ทั้งหมดหรือ 100% จริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
นอกจากนี้ยังมีแผนภูมิโดนัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก
- แผนภูมิแท่ง (bar chart)
แผนภูมิพื้นฐานประเภทที่สองคือ แผนภูมิแท่ง ไม่ว่าจะแนวตั้งหรือแนวนอน แผนภูมิประเภทนี้เหมาะสำหรับการ “เปรียบเทียบ” ข้อมูลต่างชนิดในเวลาเดียวกัน หรือชนิดเดียวกันแต่ต่างเวลากัน ประเด็นสำคัญคือต้องเป็นข้อมูลที่มี “หน่วย” เดียวกัน เช่น จำนวนเล่มวิทยานิพนธ์ จำนวนการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ จำนวนนิสิตนักศึกษา ฯลฯ
- แผนภูมิแท่งลำดับชั้น (Stacked bar chart)
แผนภูมิแท่งอีกประเภทที่มีการแสดงถึงสัดส่วนเชิงประมาณของข้อมูล ภายในชุดข้อมูลที่ต่างกัน เป็นการแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมภายใน นอกจากนั้นยังมี แผนภูมิแท่งลำดับชั้นแบบแสดงสัดส่วน (%) เพื่อแสดงการเปรียบเทียบสัดส่วนกลุ่มข้อมูลภายในข้อมูลแต่ละชุดด้วย
- กราฟเส้น (line chart)
กราฟพื้นฐานประเภทสุดท้ายคือ กราฟเส้น เหมาะสำหรับการนำเสนอ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นกับข้อมูลตัวใดตัวหนึ่งผ่านช่วงเวลา หรือที่เรียกว่า ข้อมูลอนุกรมเวลา (time series data) โดยทั่วไปนิยมแสดงข้อมูลจากอดีตทางด้านซ้าย ข้อมูลจากปัจจุบันทางด้านขวา ถ้าจะให้ดีควรเป็นข้อมูลที่มีการเก็บบันทึกเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายเดือนหรือรายภาคการศึกษา เพราะการลากจุดเชื่อมจุดข้อมูลแต่ละจุดเป็นเส้นย่อมทำให้ผู้อ่านคาดหวัง “ความต่อเนื่อง” ของข้อมูล
Tiny URL for this post: